การตลาดเห็ดฟาง

การตลาดเห็ดฟาง

การขายส่วนใหญ่จะทำผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่วงที่ผลผลิตเห็ดออกสู่ตลาดมากที่สุดคือ เดือนเมษายน-พฤษภาคม และช่วงที่มีผลผลิตน้อย คือช่วงปลายเดือนธันวาคม ถึงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งช่วงนี้ราคาเห็ดทุกชนิดจะสูงขึ้น
ผลผลิตเห็ดฟางทั้งหมดจะถูกส่งเข้า มาจากบริเวณรอบ ๆ ชานเมือง โดยเกษตรกรจะเก็บเห็ดตั้งแต่เที่ยงคืน หรืออย่างช้าตีสี่ ส่งเห็ดให้ขาประจำที่ไปรับหรือพ่อค้าท้องถิ่นราคากิโลกรัมละ 40-55 บาท พ่อค้าคนกลางจะส่งเห็ดต่อไปยังตลาดราคาขายปลีกถึงลูกค้าที่มาจ่ายตลาดประมาณกิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนมากจะขายเป็นขีด ๆ ละ 5-6 บาท ตลาดจะให้ราคาเห็ดฟางสูงเมื่อดอกตูม ดอกบานราคาจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งหรือต่ำกว่า ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมเห็ดฟางกระป๋อง จะรับซื้อเห็ดฟางสดในราคากิโลกรัมละ15-20 บาท เพื่อบรรจุกระป๋องและคัดเอาเฉพาะดอกลักษณะดีเท่านั้น เห็ดฟางนั้นผลิตภัณฑ์ที่นิยมทำกันมีอยู่ 3 รูปแบบตามลำดับ


1. จำหน่ายเป็นเห็ดสด เห็ดฟางสดเป็นที่นิยมกันมากภายในประเทศ แต่มักจะประสบปัญหาการขนส่งที่ต้องรักษาให้เห็ดยังสดอยู่เมื่อนำออกมาจำหน่าย และปัญหาดอกเห็ดในระยะที่อากาศร้อนอบอ้าว ทำให้ราคาจำหน่ายที่ได้รับลดลง การเก็บเห็ดเพื่อจำหน่ายสดนี้เกษตรกรจะต้องเก็บเห็ดในตอนกลางคืนหรือเช้ามืด และส่งมาทันตลาดเมืองตอนเช้าให้ทันจำหน่าย ส่วนพ่อค้าเห็ดสดนิยมรักษาไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถทำให้เห็ดชะงักการเจริญเติบโตได้ภายใน 6-8 ชั่วโมง หรือใช้วิธีง่าย ๆ คือ การใส่ภาชนะปากกว้างเช่นถาด บรรจุไม่ให้แน่นเกินไปสำหรับการจำหน่ายเห็ดสดในตลาดต่างประเทศนั้น ลักษณะการส่งออกบรรจุในถาดโฟมหุ้มด้วยพลาสติกส่งทางเครื่องบิน เมื่อถึงประเทศปลายทางก็พร้อมจะนำเข้าจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ทันที

2.จำหน่ายเป็นเห็ดแห้ง เห็ดฟางแห้งเป็นผลิตผลจากการแปรรูปเห็ดสดโดยอบในตู้อบหรือตากแดด ตลาดเห็ดฟางแห้งในประเทศไม่แพร่หลายนักเพราะเห็ดสดมีให้ซื้อได้ทุกวันอยู่แล้ว แต่สำหรับตลาดต่างประเทศให้ความสนใจเห็ดฟางแห้งมาก เพราะเห็ดฟางแห้งมีกลิ่นดีกว่า นอกจากนี้เมื่อนำเห็ดฟางแห้งไปปรุงอาหารแล้วจะมีความหนืดและกรอบคล้ายเห็ดโคน เห็ดฟางที่นำมาทำแห้งควรเป็นดอกที่เพิ่งบานใหม่ ๆ จะทำให้สีและรสชาติดีกว่าดอกตูมหรือดอกแก่จนครีบใต้ดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้ว โดยปกติเห็ดสด 10-13กิโลกรัม เพื่อทำให้แห้งจะได้เห็ด 1 กิโลกรัม ในโรงงานอุตสาหกรรมนิยมนำเห็ดสดไปอบอุณหภูมิประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส จนกระทั่งดอกเห็ดแห้งสนิทดี ทำให้ดอกเห็ดเบาและกรอบเวลาในการอบแห้งประมาณ 18-24 ชั่วโมง

3.เห็ดฟางอัดกระป๋อง  ประเทศไทยก็ได้มีการทำเห็ดฟางอัดกระป๋อง โดยนำเห็ดนั้นมาตกแต่งให้สะอาด ปอกเอาเยื่อหุ้มออก แล้วให้มีรูปทรงของดอกเห็ดที่ไม่มีเยื่อข้างบน จากนั้นจึงนำกรรมวิธีเพื่ออัดกระป๋อง อาจจะมีบ้างที่ไม่ได้เอาส่วนโคนออก แต่นำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น เช่นไปปรุงอาหารอีกแบบหนึ่ง
ในขณะนี้ได้มีการขายเห็ดแปรรูปในลักษณะของการทำต้มยำกุ้งแห้ง ซึ่งเมื่อไปถึงต่างประเทศ เขาก็จะนำกลับมาทำเปียกอีกอยางหนึ่งคือการทำต้มยำกุ้งแต่มีเห็ดมากหน่อย ก็เป็นต้มยำสำเร็จรูปอัดกระป๋องไปเลย เมื่อถึงผู้บริโภคเขาก็เพียงแต่เปิดกระป๋อง แล้วนำไปอุ่นหรือเข้าไมโครเวฟให้ร้อนในระดับที่ต้องการ หรือเดือดอีกครั้งหนึ่ง ก็นำไปเสริฟให้ลูกค้าได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น